การละเล่นผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย

การละเล่นผีตาโขน…ประเพณี ศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านหน้ากากผี

ภายใต้หน้ากากผี เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิต ของชาว อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งการละเล่นผีตาโขน เป็นส่วนหนึ่งในงานประเพณี “งานบุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” มีความเกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีพระธาตุศรีสองรัก และบุญบั้งไฟ จัดรวมเป็นงานบุญเดียวกัน

และมีความเชื่ออีกว่า “ประเพณีผีตาโขน” เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น โดยจะมีการแห่ขบวนผีตาโขนไปร่วมกับขบวนแห่งานบุญหลวง ที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย จ.เลย

ประเพณีผีตาโขน

เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ จะมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่มี “บุญหลวง” เป็นบุญพระเวสสันดรและบุญบั้งไฟรวมกันนับเป็น เวลานานหลายร้อยปี หรืออาจจะมีตั้งแต่เมื่อครั้งพระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ประเพณีผีตาโขนมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการบูชาบรรพบุรุษของอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง ซึ่งมีอาณาเขตติดกับอำเภอ ด่านซ้าย เชียงคาน และหล่มเก่า ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการกล่าวกันว่า ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน

ในระหว่างมีงานบุญตามประเพณีประจำปีของท้องถิ่นพื้นบ้าน

การเล่นผีตาโขนนั้นจะมีเฉพาะงานบุญประเพณีที่ภาษาพื้นบ้านอเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเรียกว่า “บุญหลวง” ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย ในเดือนแปดข้างขึ้น นิยมทำ 3 วัน ดังกล่าว คือ วันแรกเป็นวันรวม (วันโฮม) เป็นวันที่ประชาชนตามตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงาน ซึ่งปกติจะนำบั้งไฟมาด้วย

โดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. – 05.00 น.

ทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานอยู่ที่วัด โดยอัญเชิญก้อนหิน จากแม่น้ำหมันใส่พาน ซึ่งสมมติว่าเป็นพระอุปคุตนำมาประดิษฐานไว้ที่หออุปคุต ข้างศาลาโรงธรรม ที่เตรียมจัดไว้แล้ว เชื่อว่าจะสามารป้องกันเหตุเภทภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดในงานได้ เมื่อพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเสร็จ
เรียบร้อยแล้ว จะมีการละเล่นต่าง ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น เล่นเซิ้งบั้งไฟ ฟ้อนรำ การแสดงผีตาโขน การแสดงการเล่นต่าง ๆ เป็นต้น วันที่สองของงาน ตั้งแต่ตอนเช้าถึงบ่าย จะมีการละเล่นต่าง ๆ

ประเพณีผีตาโขน

เป็นการละเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวงบูชาติดต่อกับผู้ชมดูการละเล่น คือ วิญญาณผีบรรพชน ที่กลุ่มชนชาติพันธุ์ไท-ลาว เชื่อถือร่วมกันว่าบรรพชน คือ ต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ผู้ที่สร้างบ้านแปงเมือง บรรพชนเมื่อตายเป็นผี จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าเกรงขาม มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้ความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะแก่บ้านเมืองได้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบ้านเมือง

เมื่อถึงงานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ตามฮีตประเพณี จึงจะต้องทำการ ละเล่นเต้นฟ้อนผีตาโขนเพื่อเซ่นสรวงบูชาให้เป็นที่ ถูกอกถูกใจแก่ผีบรรพชน การละเล่นผีตาโขนจึงเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณ และผ่านการ สืบทอดทางพิธีกรรมเป็นสาย ยาวจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

ประเภทของผีตาโขน

1. ผีตาโขนใหญ่

จะมีลักษณะเป็นหุ่นที่ขึ้นรูปจากโครงไม้ไผ่สานที่มีขนาดใหญ่แล้วห่อคลุมด้วยผ้าหรือกระดาษมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ ๒เท่า ประดับตกแต่ง รูปร่างเป็นเพศชายและหญิงด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มีการประดับอวัยวะเพศที่แสดงออกถึงความเป็นชายและหญิงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตามความเชื่อในสมัยโบราณที่สื่อว่าอวัยวะเพศของมนุษย์จะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่ความคิดพิเรนหรือทะลึ่งของผู้ที่เข้ามาร่วมเล่นแต่อย่างใด

การจัดงานแต่ละปีจะมีการทำผีตาโขนใหญ่เพื่อร่วมขบวนแห่เพียง ๑ คู่ เท่านั้น คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อนถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

2. ผีตาโขนเล็ก

ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะ เป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซนผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ เครื่องแต่งกายของผีตาโขน ส่วนใหญ่มักประกอบด้วย

ส่วนประกอบของหัว หรือที่เรียกว่าหน้ากากนั้น ทำด้วย “หวด”

หรือภาชนะที่ใช้นึ่งข้าวเหนียวซึ่งเป็นส่วนด้านบนดูคล้ายหมวก ส่วนหน้านั้นทำจากโคนก้านมะพร้าว นำมาตัดปาดให้เป็นรูปหน้ากากและเจาะช่องตา จมูกนั้นทำจากไม้เนื้ออ่อน แกะให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามแต่จินตนาการของผู้สร้างสรรค์ โดยทำเป็นลักษณะยาวแหลมคล้ายงวงช้าง

ส่วนเขานั้นทำจากปลีมะพร้าวแห้ง โดยนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาเย็บติดเข้าไว้ด้วยกัน และทาสีสันวาดลวดลายไปบนด้านหน้าของหน้ากากนั้น ๆ หลังจากนั้นจะเย็บเศษผ้าติดไว้บริเวณด้านบน(หลัง) เพื่อให้คลุมส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่

ส่วนประกอบของเครื่องแต่งกาย จะเป็นชุดที่ทำจากเศษผ้า ซึ่งนำมาเย็บติดกัน และมี “หมากกะแหล่ง”หรือกระดิ่ง (คล้ายกับที่แขวนคอโค, กระบือ) แขวนผูกไว้บริเวณเอวเพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะเวลาเดิน และส่ายสะโพก
ส่วนประกอบสุดท้าย คือ ดาบหรือง้าว ที่จะทำจากไม้เนื้ออ่อน ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here