เที่ยวภูเมืองเลย

จังหวัดเลย

เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย

เมืองเลย ถ้าจะกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยว ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันก็คือภูกระดึง เชียงคาน ภูเรือ แต่ใครจะรู้ไหมว่า ที่จ.เลย ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอยู่มากมาย โดยเฉพาะในอำเภอ ภูหลวง ที่นี่มีธรรมชาติและรอยยิ้มแอบซ่อนอยู่

ทริปนี้เราจะพาเพื่อนๆไปสัมผัสบรรยากาศ ที่สวยงาม และเรียนรู้วิถีชุมชนไปด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาชมเลยครับ
– ภูป่าเปาะ
– ผาหินงาม
– ภูเลยหง่า
– ปลูกเมล็ดพันธุ์ นั่งรถอีแต๊กชมวิว
– ไร่โรแมนติก
– สวนเกษตรโอบเลย
– พ่อพญาช้าง นางผมหอม
– สวนพืชไทย
– ขี่จักรยานชมทุ่งนาหนองกอก
– เรียนรู้การดิ้นฝ้าย การทอผ้า หมู่บ้านหนองบัว
– บานานา แฟมิลี่

ชมภูหอที่ภูป่าเปาะ 08 9764 6829 ผู้ใหญ่ลือ
จุดชมวิวภูเลยหง่า 09 2342 8308 พี่หนุ่ม
ไร่โรแมนติก 09 5923 9256 พี่อเนก
สวนพืชไทย 08 9941 5403 ป้าเพริศ

นั่งชมวิวภูหอ ที่ได้ขึ้นชื่อว่าฟูจิเมืองเลย จากบนภูป่าเปาะ

นอนนับดาว ที่โฮมสเตย์บ้านพืชสวนไทย อยู่เชิงเขาภูหอแบบสุดฟิน

ทานอาหารพื้นบ้านสุดอร่อย ณ ที่ทำการ ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรกัษ์ภูป่าเปาะ

ตรงบริเวณที่จอดรถก่อนขึ้นภูป่าเปาะ จะมีร้านอาหารเล็กๆอยู่ แต่รสชาติบอกเลยไม่เล็กแน่อนครับ น้ำพริกจัดจ้าน ต้มไก่ในกระบอกไม้ไผ่อร่อยสุดๆ

ร้านต้นกล้า ฟ้าใส
062-9061581 พี่ฟ้า

จากนั้นเรานั่งรถไถ ขึ้นมาบนภูป่าเปาะกันครับ ค่ารถคนละ 60 บาท ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ชิลมากกก

จุดชมวิว จุดที่ 1
จะเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็น “ภูหอ” ได้ชัดเจนที่สุด
จะมีระเบียงไม้ยื่นออกมาเพื่อให้นักท่องเที่ยว มายืนถ่ายรูปได้อย่างเต็มที่ แนะนำให้มาตอนเช้าๆ อากาศเย็นสบายๆ
ถ้าโชคดีบางวันเราอาจจะได้เจอทะเลหมอกด้วย

วิวมองลงไปทางด้านที่จอดรถ สีเขียวไปหมด ดูแล้วสบายตา

จุดชมวิวจุดที่ 2
ตรงนี้มีชิงช้าให้นั่งชิลชมวิว และถ่ายรูปเกร๋ๆด้วย

จุดสุดท้าย

ออกแรงเดินหน่อยนะ เพราะรถขึ้นมาไม่ถึงครับ เดินประมาณ 300 เมตร ได้เหงื่ออยู่ แต่ขึ้นมาแล้วก็หายเหนื่อย เพราะชมวิวได้ 360 องศา โอ้ย สวยมากกกกก

ใกล้ๆกับภูป่าเปาะ มีสถานที่เที่ยวน่าสนใจอยู่ด้วยครับ

สวนหินผางามหรือ คุนหมิงเมืองเลย

แนวผาหินปูนสูงใหญ่แลดูเป็นสง่า ทอดตัวเป็นแนวยาว โดดเด่นท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี พื้นที่บริเวณนี้คือที่ตั้งของ สวนหินผางาม เมืองเลย ภายในมีเส้นทางเดินสลับซับซ้อน บางช่วงดูลึกลับตื่นเต้นคล้ายกับผจญภัยอยู่ในเขาวงกต บางช่วงต้องปีนป่ายเพิงหิน หรืออาจต้องมุดลอดโพรงถ้ำ นอกจากนี้ตลอดเส้นทางยังมีโอกาสพบเห็นต้นไม้หายาก และต้นไม้ยักษ์ อย่างปรงเขาที่มีอายุหลายร้อยปี สวนหินแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “คุนหมิงเมืองเลย”

จากนั้นเราเดินทางต่อมากันที่ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ไร่โรแมนติก โฮมสเตย์เล็กๆ บนภูเขา

ทานอาหารเที่ยงแบบฟิวชั่น ตกแต่งอย่างสวยงามแต่วัตถุดิบ หาจากป่าในพื้นที่ทั้งนั้น บอกเลยว่ารสชาติอร่อยมากกก

อิ่มแล้วเราก็ไปชมวิวกันต่อครับ โดยนั่งรถอีแต็กไปกัน

มาถึงแล้วจ้าาา ภูเลยหง่า

เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูหลวง จากตรงนั้นเราสามารถมองเห็นภูหลวงด้านหลังได้อย่างสวยงาม พร้อมทั้งน้ำตก ตาดเลยหง่า ด้วยครับ

วิวภูหลวง จากตรงจุดชมวิวภูเลยหง่า เห็นน้ำตกตาดเลยหง่าอยู่ไกลๆ. ตรงนี้เรามีกิจกรรม ยิงหนังสติ๊กปลูกป่ากันด้วยครับ

จากนั้นเรานั่งรถอีแต๊กต่อไปที่ สวนเกษตรโอบเลย อยู่ใกล้ๆกันครับ มาคุยกับพี่เจ้าของสวน

ที่นี่มีกิจกรรม สอนขี่ม้าด้วย

ล่องแพ ลำน้ำเลย ก็มีนะ

เสร็จกิจกรรมต่างๆแล้วขอผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน่อย ที่นี้มีบริการนวดไทยแบบด้ว

บรรยากาศสุดชิล ริมลำธาร นอนฟังเสียงน้ำไหลไปเพลินๆ เจนแทบจะไม่ยอมลุกมาอีกเลย

จากนั้น มาเตรียมตัว เพาะกล้าเมล็ดพันธุ์ไม้เพื่อเตรียมไว้ใช้ปลูกในโครงการ สร้างป่าสร้างรายได้ในเดือนกรกฏาคม กันครับ

มื้อเย็นก็ทำอาหารทานกับพี่ๆชาวบ้าน กินกันง่ายๆครับ ต้มยำไก่ ส้มตำ ผัดฟักแม้ว กับข้าวสวยร้อนๆ

จากนั้นเราเดินทางต่อมาที่ ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย กันครับ

นามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภูหลวง” เพราะเป็นภูเขาสูงใหญ่ อุดมด้วยพรรณไม้ สัตว์ป่านานาชนิด เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเลย แม่น้ำป่าสัก

อ.ภูหลวง ยังมีนิทานท้องถิ่น “พญาช้าง-นางผมหอม” ที่เล่าขานกันจนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีถึงทุกวันนี้

นิทานมีอยู่ว่า หญิงสาวหน้าตาสวยงาม เส้นผมมีกลิ่นหอมชื่อ “นางผมหอม” มีน้องสาวชื่อ “นางลุน” นางผมหอมเป็นลูกของพญาช้างที่อาศัยอยู่ในป่าภูหอ ส่วนนางลุนเป็นลูกของวัวป่า

วันหนึ่งนางทั้งสองได้ไปตามหาพ่อ จนไปเจอกับพญาช้างเชือกหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย ด้วยความกลัวทั้งสองจึงยกมือไหว้เพื่อขอชีวิต พญาช้างเห็นนางทั้งสองก็สังหรณ์ว่าจะเป็นลูกของตน จึงอธิษฐานว่าถ้าคนไหนเป็นลูกก็ขอให้ปีนงาขึ้นมาขี่หลังตนได้

นางผมหอมขึ้นไปนั่งบนหลังของพญาช้างได้ แต่นางลุนตกลงมา เมื่อพญาช้างรู้ว่านางลุนไม่ใช่ลูก ก็โมโหเหยียบนางลุนตาย แล้วจึงพานางผมหอมเข้าไปอยู่ในป่าภูหอกับตนและสร้างปราสาทให้อยู่หนึ่งหลัง

นางผมหอมชอบไปอาบน้ำที่ “หนองบัว” (คือบ้านหนองบัว ต.ภูหอ อ.ภูหลวง) และที่ “ลำธารห้วยหอม” (คือ ต.หนองคัน อ.ภูหลวง)

วันหนึ่งนางผมหอมเอาเส้นผมของตน และสารรักใส่ในผอบลอยตามแม่น้ำเลย มาถึง “เมืองเซไล” (เชื่อว่าคือบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง) ท้าววรจิตร เจ้าชายเมืองเซไลเก็บได้จึงเขียนสารรักตอบและลอยผอบลงน้ำ ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำปากห้วยหอมที่ป่าภูหอ ท้าววรจิตรจึงตามไปพบนางผมหอม ทั้งคู่รักกัน เมื่อพญาช้างรู้เข้าก็โมโหใช้งางัดหินขึ้นจนเกลื่อนกลาดดังปรากฏที่ภูหอปัจจุบัน

พญาช้างเสียใจร้องไห้ เป็นที่มาของ “หนองน้ำตาช้าง” พร้อมสั่งเสียนางผมหอมว่าให้เป็นภรรยาที่ดี และถ้าสิ้นใจให้เอางามาทำเป็นเรือเพื่อพาลูกและสามีกลับเมืองเซไล

แล้วพญาช้างก็สิ้นใจที่ “เดิ่นช้างตาย” เมื่อเก็บศพพ่อเสร็จ นางผมหอมได้เอางาและกระดูกทำเรือตามที่พ่อสั่งเสียแล้วกลับเมืองเซไล

บ้านสวนพืชไทย (บ้านป้าเพริศ)

สาวแกร่งแห่งภูหลวง ทำไมถึงเป็นสาวแกร่งนั้นหรอคะ แกเป็นคนบุกเบิก จากพื้นที่เปล่า กลายเป็นไร่ สวนผสม ไม่ว่าจะผัก ผลไม้ ขึ้นสวยงามเต็มไปหมด ทำทุกอย่างคนเดียวไม่มีวันหยุด

ป้าเพริศใช้ไร่นี้ทำโฮมสเตย์ ที่มีอยู่เพียง 3 หลังเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้เข้าพัก 2-3 คนต่อหลัง
แต่เราจะมีบ้านหลังใหญ่ที่ป้าแกอยู่เอง บ้านหลังนี้ทีนอนได้เป็นสิบยี่สิบคนเลย ที่นี้ไม่มีไฟฟ้านะ ไม่มีพัดลม แต่ใช้ที่ปั่นไฟ และโซลาร์เซลล์แทน เวลามีผู้เข้าพักจะสามารถใช้ไฟได้ตอนหกโมง ถึงสาม สี่ทุ่มเท่านั้น

ภายในบ้านหลังเล็ก จะมีที่นอน หมอน มุง ผ้าห่ม ให้พร้อม ห้องน้ำในตัว มีโซนห้องครัวด้วย
และมีระเบียงหน้าบ้านไง้นั่งเล่น รับลมเย็นสบาย

บรรยากาศช่วงหัวค่ำก็จะประมาณนี้ล่ะจ้า
ฟ้าสวยๆ กับลมเย็นๆ

มาถึงที่นี้แล้ว จะได้เห็น ได้สัมผัสพิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นธรรมเนียมของชาวอีสานที่มีมาแต่เนิ่นนาน คุณตาวัย 80 ปี นั่งทำพิธีให้เราอย่างตั้งใจ เจนนั่งมองนั่งยิ้มไม่หุบ ได้รับรู้ถึงน่ารักของคนอีสานอย่างแท้จริง

การบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน จะทำขึ้นเวลามีแขกมาเยือนบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาในพื้นที่นั้นๆ เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้นั่งอยู่ในพิธีนี้ จะประทับใจมากแน่นอน

เช้าๆ จะมีน้องกลุ่มน้องๆจากกลุ่ม “ชวนน้องออม ถวายพ่อหลวง” มารับพาไปปั่นจักรยาน สูดอากาศบริสุทธิ์ สดชื่น ในตอนเช้า ตามทุ่งนาใกล้ๆบ้านพัก

เด็กๆน่ารักมากเลยใช้เวลาว่างวันเสาร์ – อาทิตย์ มาทำกิจกรรมกับชุมชน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

หลังจากปั่นจักรยานเสร็จกลับมาที่พัก ป้าเพริศก็พาเราไปเก็บหน่อไม้มาต้มกินกับน้ำพริกจ้า ป้าบอกว่าปลอดภัยสารพิษทุกชนิด ลองชิมสิ

จากนั้นป้าก็ตัดให้เจนกินสดๆ กันข้างต้นไผ่เลย
เจนว่าหวาน กรอบมาก อร่อยจ้า

อาหารมื้อเช้าเราเสร็จแล้ว ฝีมือป้าเพริศทั้งนั้น เราเพียงช่วยจัดการ 555

ไข่เจียวหอมๆ น่ากินนั้น ได้มาจากไข่ไก่ที่ป้าแกเลี้ยงเอง ลาบหัวปลี อันนี้อร่อยเด็ดมาก น้ำพริกกะปิผักสดผักต้ม หน่อไม้ที่เราไปเก็บมาเมื่อเช้าก็นำมาต้มกินกับน้ำพริกนี่แหละจ้า อร่อยมาก พร้อมต้มจืดกระดูกหมูใส่สาหร่าย

ที่สำคัญข้าวที่เรากินกันนี้คือข้าว 28 สายพันธุ์ ที่ป้าเพริศนำเสนอสุดๆจ้า

จากนั้นเรามาเที่ยวดูวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนกันบ้าง

เริ่มที่บ้าน บ้านตาครวญ ยายบัว เรียนรู้การอิ้วฝ้าย ตากับยายอยู่กันสองคนนะคะ อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง หัวเราะตลอดเวลา ใครที่มาภูหลวง แวะมาหาตากับยายได้นะคะ ให้ยายบัวสอนอิ่วฝ้าย ที่เจนลองทำแล้ว ไม่ได้จริงๆค่ะ ยากมากกก 55555

ถัดมาไม่ไกลนัก เราจะไปบ้านยายช่วย เรียนรู้การทอผ้าฝ้าย ที่นำฝ้ายบ้านยายบัวมาต่อยอดแล้วทออกมาเป็นผืนแบบนี้ละจ้า กว่าจะได้แต่ละเส้น แต่ละผืน ใช้เวลนานพอสมควรเลย ไม่ใช่ใครจะทำเองได้ง่ายๆ ต้องมีความชำนาญ ความอดทนนั่งทำเอามากๆ

ใครที่ชื่นชอบผ้าไทยผ้าฝ้าย อุดหนุนฝีมือคนไทยด้วยกันนะคะ

นาหนองกอก/บ้าน ยายทอง

ที่นี้มีวิธีการปลูกข้าวที่หลากหลายค่ะ ไม่ว่าจะ ดำ หว่าน โยน ก็ล้วนแล้วแต่มีวิธีการของมันทั้งนั้น แต่วันนี้เราพามาเรียบร้อยรู้วิธีการ คัดเม็ดพันธ์ข้าวพร้อมลงเม็ดข้าวลงในแผงเพราะกล้า

พอข้าวต่อพอที่จะลงดินแล้ว จะใช้วิธีโยนเป็นจุดๆ อาจจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างเราก็จะมาปรับกันอีกที

วิธีนี้ดีสามารถจำกัดปริมาณพันธุ์ข้าวที่เราจะใช้ต่อแปลง ต่อไร่ ได้อย่างดี การดูแลก็จะง่ายมและผลผลิตดีอีกด้วย

กลับมาที่บ้านป้าเพริศ แกเตรียมสอนวิธีการทำ “ปั่นเตาโบราณ” ผสมดินเสร็จก็เริ่มกันเลย ไม่ถึง 20 ก็ออยากเป็นเตา ที่สามารถเผาใช้งานได้เลย ดินที่ใช้ปั่น ก็คือดินในไร่บริเวณพื้นที่บ้านนั้นเอง ป้าเพริศไม่ได้สอนแค่การปั่นเตา แต่เราเห็นถึงการใช้ชีวิตแบบพอเพียง นำเอาสิ่งรอบตัวมาประยุกต์ใช้งานได้หมด

ใครที่ชอบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ท่องเที่ยวแบบเข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน แบบนี้ ที่ภูหลวงคือหนึ่งตัวเลือกที่เราแนะนำให้ไปสักครั้งแล้วจะหลงรักคนภูหลวงค่ะ

มื้อเที่ยงนี้ถูกใจเจนมาก อร่อยทุกอย่างขอเบิ้ลส้มตำสองครกกันเลย ผักสดกินคู่กับอะไรก็อร่อย
บางเมนูมีที่ภูหลวงที่เดียวนะคะ

คุณป้าหนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศอำเภอภูหลวง มอบของที่ระลึกให้เรา คือผ้าพันคอ เป็นผ้าฝ้ายหมกโคลน สีสวย ป้าบอกว่าพึ่งทำเมื่อคืนเลย กราบขอบคุณพระคุณคุณป้ามากๆนะคะ หนูจะใช้มันบ่อยๆให้สมกับที่ป้าตั้งใจทำให้เลยจ้า

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here