รวมจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นสุดสวย ในเมืองไทย

เที่ยวเมืองไทยสวยไม่แพ้ที่ใดในโลก… วันนี้แบกกล้องเที่ยวจะมาแนะนำ จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม ในเมืองไทยกันครับ แต่ละที่ก็สวยงามแตกต่างกันไป แล้วแต่สภาพภูมิประเทศ จะมีที่ไหนบ้างติดตามชมเลยครับ รายละเอียดแต่ละที่จะอยู่ใต้รูปนะครับ

ดอยค้ำฟ้า (หน่วยจัดการต้นน้ำแม่งาย)
ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ดอยค้ำฟ้ามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,834 เมตร ปัจจุบันดอยค้ำฟ้า มีสถานะเป็นป่าที่มีอายุเกิน 30 ปี ปัจจุบันงบประมาณในการทำงานมีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องเปิดเป็นการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ ศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ ใช้การท่องเที่ยวนำ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ในการจ้างแรงงาน จุดเด่นของพื้นที่ดอยค้ำฟ้า ยังมีป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ มีลำธารน้ำตก มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม และมีป่าหลากสีเมื่อดอกนางพญาเสือโคร่งผลิบานในช่วงหน้าหนาว ทางหน่วยต้นน้ำจึงได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

จุดชมทิวทัศน์ กม.41
จุดชมทิวทัศน์อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 41 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของขุนเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะยามเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมเหนือหุบเขาน่าชมมาก จากจุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริสูงเด่นอยู่คู่กัน

ภูห้วยอีสัน
เป็นเนินเขาเตี้ยๆ อยู่ใกล้แม่น้ำโขง ในบ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เนินเขาที่เป็นสวนของชาวบ้านถูกพบว่าเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงามมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับบริการรถอีแต๊กที่ชาวบ้านใช้ในการเกษตร ดัดแปลงมาเป็นรถสำหรับรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ความสวยงามของทะเลหมอกบนภูห้วยอีสันนับได้ว่าไม่เป็นรองภูเขาสูงๆ ที่อื่นเลย แต่ข้อได้เปรียบคือการเดินทางที่ไม่ลำบาก รถอีแต๊กสามารถขึ้นไปส่งได้ถึงจุดชมวิว อย่างไม่ยากเย็นนัก ปกติในวันที่ไม่มีหมอกจะเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมากเพราะมีแม่น้ำโขงอยู่เบื้องล่าง
ภูห้วยอีสันมีลักษณะเป็นภูเขาดิน จึงสะดวกที่สุดที่จะเดินทางด้วยรถอีแต๊กเท่านั้น เริ่มต้นเดินทางด้วยการไปขึ้นรถที่จุดบริการที่ร้านอาหารครัวไม้น้ำ อยู่ห่างจากย่านรีสอร์ทของอำเภอสังคมไปประมาณ 17 กิโลเมตร ค่าบริการรถนำเที่ยวคนละ 60 บาท รถอีแต๊กจะขับพาไปที่ทางแยกขึ้นภูห้วยอีสันประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขึ้นเขา อีกประมาณกิโลเมตรเศษๆ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ลานชมวิวเป็นลานกว้าง 2 ชั้น ยืนชมวิวได้หลายสิบคน
ชาวบ้านเล่าว่า คำว่า ห้วยอีสัน น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ห้วยอิฉัน หรือดิฉันในภาษาอีสาน อันเป็นคำพูกเพื่อจะบอกว่าที่คือลำห้วยของฉัน นั่นเอง

จุดชมวิวเขาแดง
อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านเขาแดง ของเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาของนาม เขาแดงนั้น เพราะหมู่บ้านอยู่ติดกับภูเขาที่มีผาสีแดง ก็เลยถูกเรียกว่า หมู่บ้านเขาแดงมาจนถึงปัจจุบัน ที่นี้มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่าง คลองเขาแดง ล่องเรือชมทัศนียภาพป่าชายเลนส์ สวยงามมาก และอีกหนึ่งสถานที่ยอดนิยมที่อาจจะเหมาะกับเพื่อน ๆ ที่ชอบแนว ๆ ผจญภัยสักเล็กน้อย นั้นคือ การเดินขึ้นไปพิชิต จุดชมวิวเขาแดง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 725 เมตร อาจจะดูเหมือนไม่ไกลมากนัก แต่ใช้เวลาในการเดินจริง ๆ ประมาณ ครึ่งถึงชั่วโมงเลยทีเดียว เพราะเส้นทางอาจจะดิบไปซะหน่อย มีเนินโขดหินสลับซับซ้อนกัน ให้ต้องปีนป่ายกันหลายจุด

ภูทับเบิก
ตั้งอยู่ที่ตำบลวังบาล จ. เพชรบูรณ์ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของจังหวัด เพชรบูรณ์ ภูมิประเทศมีความงดงามเป็นที่กล่าวถึง เป็นความงามของทะเลภูเขาตามธรรมชาติป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ อากาศบริสุทธ์ เย็นสบายตลอดปี ในตอนเช้ามีหมอกและกลุ่มเมฆตัดกับยอดภูสีเขียว มีไร่กะหล่ำปลีที่ปลูกลดหลั่นไปตามไหล่เขา ภูทับเบิกเป็นสถานที่ ที่มีความสำคัญมากที่หนึ่ง เพราะเป็นจุดรองรับน้ำฟ้ากลางหาว เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542เวลา 15.59 น. ณ สำนักสงฆ์บ้านทับเบิก เพื่อนำไปรวมเป็นน้ำเพชรน้อมเกล้าถวายเป็นพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นสถานที่ที่มีเครื่องวัดอุณหภูมิที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและยังเป็นเส้นทาง เชื่อมโยงสู่แหล่งท่องเที่ยว และประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

เขาสก หรือ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราฎร์ธานี
ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก ลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ยอดแหลม แนวหน้าผาสูงชัน กลางสายน้ำของเขื่อนเชียวหลาน บรรยากาศสวยงามจนได้รับสมญานามว่า กุ้ยหลินเมืองไทย ภาพภูเขารายล้อมเขื่อน นอนแพพายเรือคายัคและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งภาพไอหมอกกระทบกับแสงแดดลอยเหนือน้ำในยามเช้าเป็น ทัศนียภาพที่สวยงามดึงดูดใจและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวให้เดินทางมาที่นี่อย่างไม่ขาดสาย เขื่อนเชี่ยวหลาoสามารถ ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในแต่ละฤดูก็มีความสวยงามที่แตกต่างกันไป

อีกหนึ่งจุดสุดยอดชมวิวทะเลหมอก
และนอนกางเต็นท์ ท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเย็น “จุดชมวิวม่อนสน” บนดอยอ่างขาง เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังดอยอ่างขาง จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และยังมีลานกลางเต็นท์ พร้อมกับมีห้องน้ำไว้ให้บริการด้วย ตั้งอยู่ใกล้ฐานปฏิบัติการดอยอ่างขาง
ลานกางเต็นท์ดอยอ่างขาง จุดชมวิวม่อนสน อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับฐานทหารดอยอ่างขาง ลานกางเต็นท์แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งจุดกางเต็นท์ ที่นักท่องเที่ยวพากันมานอนในช่วงหน้าหนาว ตื่นมาพบกับทะเลหมอกเบื้องหน้า และชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า กับวิว 360 องศา มีห้องน้ำไว้บริการด้วยนะครับ ผู้หญิงไม่ต้องกลัวว่าจะลำบาก ราคาเช่าเต็นท์ แค่เพียง 225 บาท สำหรับเต็นท์ขนาด 3 คน หรือหากว่ามีเต็นท์มาเอง ก็ค่าเช่าพื้นที่สำหรับกางเต็นท์แค่เพียงคนละ 30 บาทเท่านั้น

จุดชมทะเลหมอกหยุนไหล
อยู่ห่างจากหมู่บ้านสันติชลไม่กี่กิโลเมตร แต่ทางขึ้นชันและเล็กชาวบ้านจึงมีบริการรถขึ้น-ลง หยุนไหล เพื่อความเป็นระเบียบปลอดภัยในการเดินทาง สนนราคาอยู่ที่คันละ 300 บาท เราขึ้นคันไหนก็จะต้องลงคันนั้น รถทุกคันมีหมายเลขติดอยู่ที่ท้ายรถ ขึ้นรถที่หน้าหมู่บ้านสันติชล
บนจุดชมวิวหยุนไหลมีร้านกาแฟและข้าวต้ม ห้องน้ำ บ้านพัก และลานกางเต็นท์ บริการนักท่องเที่ยว

คลองปากประเป็นคลองที่สำคัญทางจังหวัดพัทลุง
โดยเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของอำเภอควบขนุนที่ไหลรวมมาจากลำน้ำสายต่างๆมาบรรจบกันเป็นคลองปากประ แล้วไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลา คลองปากประจึงเปรียบเสมือนเป็นประตูเชื่อมสำคัญของสายน้ำที่ไว้ใช้ทางการเกษตรและให้ปลาต่างๆได้ว่ายเข้าออก ทำให้บริเวณคลองปากประแห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของปลาและกลายเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญโดยมีชาวบ้านได้ตั้งยอดักจับปลาเป็นจำนวนมากจนดูยุ่งเหยิง เกิดเป็นทิวทัศน์ที่แปลกตา ในช่วงฤดูน้ำจะได้เห็นวิถีชีวิตการยกยอยักษ์และดักจับสัตว์น้ำของชาวบ้านบริเวณนี้
นักท่องเที่ยวที่มาที่คลองปากประแห่งนี้มักนิยมมาในช่วงเช้าเพื่อดูทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นกับยอยักษ์ เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักถ่ายภาพเพราะที่คลองปากประมีมุมให้ถ่ายภาพมากมาย นักท่องเที่ยวสามารถพักที่บริเวณทะเลน้อยแล้วเดินทางมาที่คลองปากประในตอนเช้าหรือพักที่รีสอร์ทตรงบริเวณคลองปากประนี้ก็ได้เช่นกัน
พื้นที่บริเวณคลองปากประนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือที่เรียกว่า Ramsar Site มีความสำคัญคือเป็นแหล่งป่าพรุขนาดใหญ่แหล่งสุดท้ายของจังหวัดพัทลุง นอกจากชมวิถีชีวิตชาวบ้านของคลองปากประแล้วที่บริเวณใกล้ๆกันก็มีสวนพฤกษศาสตร์พัทลุงให้ชมป่าเสม็ดขาวที่มีบรรยากาศคล้ายป่าอเมซอนอีกด้วย

ภูชี้ฟ้า
เป็นยอดเขาสูงที่สุดในเทือกเขาดอยผาหม่น ติดชายแดนไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อยู่ในพื้นที่เขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติด้วยลักษณะหน้าผาปลายยอดแหลม เป็นแนวยาวที่ชี้ไปบนฟ้า ทางฝั่งประเทศลาว จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “ภูชี้ฟ้า” นั่นเอง ด้านที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นับเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุด
สำหรับไฮไลท์สำคัญของ ภูชี้ฟ้า ต้องยกให้จุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม อีกทั้งทิวทัศน์ของภูเขาสลับซับซ้อนดูกว้างไกล โดยในตอนเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมในหุบเขาเบื้องล่าง มีพระอาทิตย์ขึ้นผ่านพ้นทะเลหมอก ท่ามกลางทุ่งหญ้า สวยงามราวกับภาพวาดเลยครับ

ทะเลบัวแดง
ตั้งอยู่ในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี อยู่ในบึงน้ำจืด บึงหนองหาน แหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไป ด้วย พันธุ์ปลา พันธุ์นก และพืชน้ำ จำนวนมาก โดยดอกบัวจะออกดอกมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ และค่อย ๆ ลดปริมาณ ลงในเดือนมีนาคม ดอกบัวจะบานในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาประมาณ 11.00 น. นักท่องเที่ยวจะมองเห็น ดอกบัวแดง บานเต็มท้องน้ำ หนองหานสุดลูกหูลูกตางดงาม อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า ทะเลบัวแดง ซึ่งในทุกปี นักท่องเที่ยว สามารถความงดงามของทะเลบัวแดง หนองหานกุมภวาปี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนธันวาคม จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี มีงานเทศกาลทะเลบัวแดงบาน หนองหานกุมภวาปี ณ วัดบ้านเดียม ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

“จุดชมวิวภูทอก”
ตั้งอยู่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย สถานที่นักท่องเที่ยวจะสามารถสัมผัสปุยของทะเลหมอกได้อย่างใกล้ชิดแบบสุดๆ
ถ้าหากมองในระยะไกลเบื้องหน้าจะเห็นวิวทะเลหมอกขาวโพลนตัดกับแสงสีส้มของพระอาทิตย์ ซึ่งนอกจากวิวของทะเลหมอกแล้วยังเป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิว 360 องศา แบบพาโนราม่าของเมืองเชียงคานได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแก่งคุดคู้และลำน้ำโขง ด้วยภูแห่งนี้มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ทำให้ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณภูสวยบริบูรณ์ด้วยธรรมชาติสร้างสรรค์ ในช่วงเวลาการชมทะเลหมอก คือในช่วงปลายฝนถึงฤดูหนาว ที่ให้คุณได้สัมผัสอากาศหนาวได้อีกด้วย
การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงคานใช้ทางหลวงหมายเลข 211 ไปทาง อ.ปากชม เมื่อผ่านทางแยกเข้าแก่งคุดคู้ จะพบทางแยกขวามือ ปากทางมีป้ายสถานีโทรคมนาคม เชียงคาน สู่เส้นทางขึ้นยอดภูทอก ส่วนใหญ่จะให้นักท่องเที่ยว จอดรถไว้ที่ปากทางขึ้น ภูทอก และให้ใช้บริการรถ สาธารณะ ที่ทางอำเภอเชียงคานได้จัดไว้ ค่าโดยสารประมาณคนละ 60 บาท

ดอยผาตั้ง
ตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง หมู่ที่ 14 ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร ห่างจาก ภูชี้ฟ้าประมาณ 30 ก.ม. เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่ง ของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ดอยผาตั้งเช่นเดียวกับที่ดอยแม่สลอง
ลักษณะเป็นสันเขาคดเคี้ยว มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามจับตา ความสวยงามที่เป็น ลักษณะเฉพาะ ของดอยผาตั้งไม่ว่าจะเป็นจุดชมทะเลหมอกที่งดงามและอลังการในยามเช้า ชมพระอาทิตย์อัศดงยามเย็น มองเห็นดวงตะวันกลมโตสีส้ม ฉูดฉาดค่อยๆ ลับทิวเมฆกลืนลงไปตามแนวสันเขายิ่งงดงาม ประทับใจ ในช่วงทุกวันที่ 31 ธ.ค. – ต้นม.ค.ของทุกปี จะมีเทศกาล ชมทะเลหมอกดอกซากุระบาน

สะพานมอญ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานอุตตมานุสรณ์
เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียไปยังหมู่บ้านมอญ ถือเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสองของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็งในพม่า และเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอสังขละบุรี เป็นสะพานแห่งศรัทธา ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่อาศัยอยู่ในสังขละบุรี ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติ พร้อมๆ กับการได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนชาวมอญในแถบนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับสะพานที่เสมือนเป็นสายใยวัฒนธรรมของชาวมอญและไทยในดินแดนสุดขอบประเทศแห่งนี้
การเที่ยวชมสะพานมอญ ควรแวะเดินชมตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะช่วงเวลา 6.00 – 7.00 น. เป็นช่วงที่ได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญ ใส่บาตรพระทุกเช้า หากนักท่องเที่ยวต้องการใส่บาตร ก็มีอาหารขายบริเวณหมู่บ้านมอญ สายๆ หากเดินข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านมอญ ก็สามารถเที่ยวชมบ้านเรือนในแบบชาวมอญ ซื้อของที่ระลึก หรือจะแวะชิมขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วย ที่เป็นอาหารพื้นบ้านชาวมอญก็ได้
วิถีชีวิตชาวมอญที่พบเห็นได้บริเวณสะพานมอญ และหมู่บ้านมอญ
เมื่อความเจริญค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่หมู่บ้านมอญ การเดินทางมีความสะดวกสบายขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ทำให้วิถีชีวิตชาวมอญเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน แต่ก็ยังได้เห็นกลิ่นไอความเป็นมอญบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้้าง แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านมอญ ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาว จะเข้าไปรับจ้างทำงานในตัวเมือง เราจึงมักเห็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบมอญของเด็กๆ และผู้สูงวัย มากกว่าวัยรุ่น
นักท่องเที่ยวที่มาสังขละบุรีจึงอาจจะได้เห็นลักษณะความเป็นมอญบางอย่างที่หลงเหลืองอยู่
– กิจวัตรประจำวันของชาวมอญที่นักท่องเที่ยวสนใจกันเป็นอย่างมาก คือการใส่บาตรในช่วงเช้า โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะตื่นแต่เช้า นำขันใส่ข้าวสวยมานั่งรอบนพื้นถนนเป็นแถว เพื่อรอพระมาบิณฑบาตร ชาวบ้านมักจะใส่บาตรด้วยข้าวสวย และดอกไม้ และกราบพระลงกับพื้นถนน ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยว หากใครต้องการใส่บาตร ก็สามารถร่วมใส่บาตรตอนเช้ากับชาวมอญได้ เพราะมีชุดสำหรับใส่บาตรจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วย
– จะได้เห็นวัฒนธรรมการเทินของไว้บนหัวของชาวมอญ ซึ่งบางคนยังคงนิยมเทินสิ่งของไว้บนหัว แทนการห้ิวสัมภาระมากมาย บางคนสามารถเทินของได้สูงๆ หรือหนักมากๆ แล้วยังสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว
– ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมอญ สังเกตได้จากการแต่งกายโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกสามส่วน มีผ้าแถบยาวเหมือนสไบพาดไว้ที่บ่า ผมรวมมัดเป็นมวยไว้ด้านหลัง ผู้ชายนิยมนุ่งโสร่ง บนใบหน้าของหญิงชายชาวมอญ รวมถึงเด็กๆ นิยมทาแป้งทานาคา ที่มีสีออกเหลืองนวลๆ ฉาบไว้ที่ใบหน้า (แป้งทานาคาทำจากท่อนไม้ต้นทานาคาฝนกับแป้นหินทราย ทาบนหน้าแล้วเกลี่ยด้วยแปรง)
– บางทีจะได้เห็นแม่ชีชาวมอญ เดินขอรับบริจาค โดยสวมผ้าคลุมแบบชาวมอญ เป็นผ้าคลุมสีชมพูคลุมทับผ้าชั้นในออกสีส้มเหมือนสีจีวรพระ มีสไบพาดสีเดียวกับผ้าชั้นใน ถือร่มไม้
– ในหน้าร้อน บริเวณสะพานมอญ เหมือนเป็นสวนน้ำสำหรับเด็กๆ จะมีเด็ก มาเล่นน้ำใสๆ ในแม่น้ำซองกาเลีย และกระโดดน้ำจากสะพานมอญ
– เดิมบ้านของชาวมอญมักปลูกสร้างด้วยไม้กระดาน หรือเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นสร้างด้วยปูนบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ยังคงสภาพเดิมๆ ไว้ ให้เห็นถึงความเป็นบ้านมอญ ถ้าสังเกตดีๆ บ้านมอญมักจะมีผนังด้านหนึ่ง ทำเป็นเหมือนส่วนเกินยื่นออกมาคล้ายมุขหน้าต่าง นูนเป็นกล่องตรงผนังบ้าน มุขที่ว่านี้ก็คือ ห้องพระ หรือหิ้งพระของบ้าน บางบ้านจะตกแต่งส่วนของมุขนี้ไว้อย่างสวยงาม

เขาช้างเผือก
เป็นที่เที่ยวสำหรับคนที่ชอบการเดินป่า ชอบผจญภัย พิชิตยอดเขาสูง ยอดเขาช้างเผือกสูงตระหง่าน รอให้มาพิสูจน์ความกล้ากัน โดยเฉพาะจุดของสันเขาที่หวาดเสียวที่สุดที่เรียกว่า “สันคมมีด”
เขาช้างเผือก ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อำเภอทองผาภูมิ บนยอดเขามีลักษณะเป็นภูเขาหญ้า มีหินบ้างตามสันเขา การเดินทางไปยังยอดเขาช้างเผือก จะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เพื่อลงทะเบียนรายชื่อคนที่ขึ้นเขา ในแต่ละวันทางอุทยานฯ มีการจำกัดคนบนเขาไว้ที่ 60 คน เพราะพื้นที่กางเต็นท์บริเวณยอดเขามีพื้นที่จำกัด ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะนิยมมาแบบ 1 คืน 2 วัน
การเดินขึ้นสู่เขาช้างเผือกจะเริ่มจากบริเวณหลังหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมงในการเดินขึ้นไปจนถึงจุดกางเต็นท์ เดินช่วงแรกจะผ่านป่าโปร่งๆ เป็นเนินเขาเตี้ยบ้าง สูงบ้าง เป็นเนินทุ่งหญ้าที่มีวิวสวยๆ ระหว่างทางให้ถ่ายรูป ช่วงนี้แดดค่อนข้างร้อน จากนั้นก็จะเป็นการเดินตามเชิงเขาบ้าง สันเขาบ้าง ช่วงนี้จะเป็นทุ่งหญ้าความสูงพอท่วมหัว แล้วจึงจะถึงจุดตั้งแค้มป์
การเดินทางให้ถึงบริเวณยอดเขาช้างเผือก จะต้องเดินไปจากจุดตั้งแค้มป์อีกประมาณ 500-600 เมตร และจะต้องผ่านจุดที่ถือเป็นไฮไลท์ของเขาช้างเผือก คือช่วงที่เรียกว่า “สันคมมีด” หรือ “สันวัดใจ” ที่ท้าทายผู้กล้าทั้งหลาย เพราะจะเป็นช่วงสันเขาบางๆ แคบๆ ช่วงนี้สันเขาจะมีก้อนหินใหญ่บ้างเล็กบ้าง ต้องเดินแถวเรียงเดี่ยวปีนผาหินขึ้นไป ถึงจะเป็นผาไม่สูงมาก แต่ก็ทำเอาหลายคนใจสั่น หน้ามืด ถึงกับก้าวขากันไม่ออก หรือบางคนถึงกับยอมถอดใจไม่ขึ้นไปเลยทีเดียว เพราะเป็นการปีนอยู่บนยอดสันเขาเปิดโล่ง ทั้งสองข้างเป็นไหล่เขาลาดลึกลงไปเป็นเหว ทางเดินสอบแคบขนาดไม่เกินเมตร ทำให้รู้สึกเหมือนเดินอยู่บนคมมีด ที่น่าหวาดเสียว เรียกได้ว่าพลาดไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว แม้จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ และะมีเชือกให้คอยจับพยุงตัวขึ้นไปยังยอดเขา บางคนถึงกับเสียน้ำตา และอีกหลายคนยอมที่จะคลานไปตามพื้นสันเขาที่กว้างไม่ถึงเมตรนี้ เพื่อไม่ให้มองเห็นความลึกของเหวสองข้างทาง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ การปีนสันคมมีด ทำได้ง่ายขึ้นมากแล้ว เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการขึงเชือกให้นักท่องเที่ยวสามารถปีนขึ้นไปได้ง่ายขึ้น
เมื่อพ้นช่วงสันคมมีด จะเป็นเนินเขาที่ให้เดินต่อไปจนถึงจุดสูงสุดของเขาช้างเผือก ที่ความสูง 1,249 เมตร จากระดับน้ำทะเล จุดนี้จะเป็นจุดที่สามารถเห็นวิวได้รอบตัวแบบ 360 องศา ไม่มีต้นไม้ใหญ่บดบังทิวทัศน์ ใครที่ได้มาถึงจุดนี้แล้วล่ะก็ อย่าลืมถ่ายรูปคู่กับป้ายพิชิตยอดเขา เพื่อเป็นที่ระลึกว่าได้ผ่านการทดสอบการเดินทางสู่เขาช้างเผือก สันคมมีด มาแล้ว
การเดินทางขึ้นเขาช้างเผือก ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งวัน จึงไม่สามารถเดินทางแบบเช้าไป เย็นกลับได้ บนเขาไม่มีร้านค้า ร้านอาหารหรือที่พัก นักท่องเที่ยวต้องนำเสบียงอาหารไปทำกินเอง โดยจ้างลูกหาบขนสัมภาระขึ้นไปตั้งแค้มป์ค้างคืนบนยอดเขา และควรเตรียมอาหารระหว่างทาง และน้ำดื่มให้เพียงพอด้วย นอกจากนี้บนเขายังไม่มีแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ด้วย
ช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงที่วิวสวย ทุ่งหญ้าบนยอดเขาต่างๆ สีเขียวสด กลางคืนอากาศหนาว มีหมอกให้เห็นในตอนเช้า สายๆ อาจเห็นทะเลหมอก หากมาเที่ยวในช่วงที่ยังมีฝน ทางเดินอาจลื่นบ้าง และควรมียาสำหรับป้องกันแมลง และทาก

ผานกแอ่น
อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากหลังแป 2.5 กิโลเมตร ผานกแอ่นเป็นลานหินเล็กๆ มีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามยิ่ง อากาศสดชื่นเย็นสบาย มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา เห็นผานกเค้าได้ชัดเจน ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนมีนาคม-เมษายน ผู้ที่ไปชมประอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ควรเตรียมไฟฉายสำหรับใช้ส่องทางไปด้วย

แก่งหินสามพันโบก
ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มหินทรายที่ถูกกระแสน้ำธรรมชาติ กัดเซาะผ่านกาลเวลามานานหลายพันปี จนเกิดเป็นร่องหินขนาดใหญ่สูง 3-7 เมตร กว้างเป็นสิบเมตร กลายเป็นโบกงามๆ แปลกตาจำนวนนับไม่ถ้วนกระจายอยู่บนพื้นผิวของลานหินในละแวกนี้ กินพื้นที่เลียบริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว ทอดตัวยาวไกลตั่งแต่บ้านโป่งเป้าไปจนถึงบ้านปากกะหลาง ตำบลสองคอน เป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร และรวมเป็นพื้นที่ถึงกว่า 30 ตารางกิโลเมตร ถ้าดูจากแผนที่กูเกิลจะเห็นชัดว่า ที่นี่เป็นลานหินกว้างใหญ่ มีหลุม หุบ รู และแอ่งยั้วเยี้ยอยู่นับไม่ถ้วน เห็นเป็นจุดๆ น้อยใหญ่เต็มไปหมด และดูท่าจะมีมากกว่าสามพันหลุมเสียด้วยซ้ำ

อุทยานแห่งชาติภูเรือ
หนาวสุดในแดนสยาม มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย อาณาเขตด้านทิศเหนือ อยู่ติดกับประเทศลาว พื้นที่ป่าภูเรือประกอบด้วยทิวเขาสูง สลับซับซ้อนเรียงรายเป็นรูปต่างๆ น่าพิศวงสลับกับที่ราบเป็นบางส่วน สาเหตุที่ขนานนามว่า “ภูเรือ” เพราะมีภูเขาลูกหนึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาดูคล้ายสำเภาใหญ่ และที่ราบบนยอดเขา มีลักษณะคล้าย ท้องเรือตลอดจนมีธรรมชาติและ ทิวทัศน์ที่สวยงาม มียอดเขาสูง ที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปานกลาง
ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตรจากระดับ น้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญก่อให้เกิดลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเกียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง

ดอยหลวงเชียงดาว
สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สูงถึง 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในสมัยโบราณดอยเชียงดาวถูกเรียกว่า “ดอยอ่างสลุง” ซึ่ง ชาวเชียงใหม่เชื่อกันตามตำนานเมืองเชียงใหม่ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อม พระอรหันต์ 8 องค์ทรงลงสรงน้ำในสลุงทองคำหรือบริเวณอ่างสลุงนั่นเอง บางคนเรียกดอยแห่งนี้ว่า “ ดอยหลวง ” เนื่องจากเป็นดอย ที่มีขนาดสูงใหญ่ (“ หลวง ” หมายความว่า “ ใหญ่ ” ) เพี้ยนเป็น“ ดอยหลวงเพียงดาว ” จนกระทั่งกลายมาเป็น “ ดอยหลวงเชียงดาว ” หรือ “ ดอยเชียงดาว ”